ประวัติกล้วยไม้

  กล้วยไม้แต่ละชนิดต่างก็มีลักษณะและระบบของรากที่เข้ากับสิ่งที่ไปอาศัยพักพิงอยู่อย่าง เหมาะสมที่สุด กล้วยไม้ชนิดที่ขึ้นอยู่ บนดินรากจะมีลักษณะเป็นหัวและอวบอิ่มไปด้วยน้ำจึงมีศัพท์ เฉพาะที่บรรยายลักษณะของรากเช่นนี้ว่า “อวบน้ำ” กล้วยไม้ประเภทนี้มีอยู่
หลายสกุล เช่น สกุลฮาเบนาเรีย (Habenaria )เพ็คไทลิส ( Pecteilis ) และ แบรคคีคอไรทิส (Brachycorythis ) ซึ่งในประเทศที่มี ฤดูหนาวมีหิมะตกทับถมบนพื้นดินหนามาก และเป็นเวลานานหลายเดือนด้วย แต่กล้วยไม้เหล่านี้ก็คงทนอยู่ได้เนื่องจากมีความสามารถพิเศษ ในการปรับ ลักษณะของตัวเองให้ เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของฤดูกาลที่ปรากฏเป็นประจำในรอบปีได้ กล่าวคือเมื่อ ถึงฤดูที่อากาศหนาว จัดหรือแห้งจัดต้นและใบที่อยู่เหนือพื้นดินจะแห้งไป คงเหลือแต่หัวฝังตัวอยู่ภาย ใต้ผิวดินครั้งพอถึงฤดูที่สภาพแวดล้อม เหมาะสมก็จะเจริญขึ้นมาเป็นต้นและใบเมื่อเจริญเต็มที่ก็จะ ผลิดอกและสร้างหัวใหม่เพื่อเก็บสะสมอาหารไว้ใต้ผิวดินอีกเมื่อหัวใหม่เจริญเต็ม ที่ส่วนต้น ใบ และดอกเหนือผิวดินก็จะถึงเวลาแห้งเหี่ยวพอดี ส่วนหัวจะพักรอเวลาที่อากาศเหมาะสมก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ดังนี้เรื่อยไป นอกจากกล้วยไม้ดิน ซึ่งมีหัวเป็นที่สะสมอาหารใต้ดินแล้ว ยังมีกล้วยไม้ประเภทไม่มีหัวและชอบขึ้นอยู่บนหินภูเขาที่มีเศษหินผและเศษใบไม้ ผุทับถมกันอยู่หนาพอสมควรเป็นกล้วยไม้ในสกุลพาฟิโอเพดิลัม (Paphiopedilum ) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า กล้วยไม้รองเท้านารี และยังมีบางประเภทซึ่งเกาะ อยู่บนคาคบไม้ ซึ่งจะพบได้ในเขตร้อน เช่น กล้วยไม้ในสกุล แวนดา (Vanda ) แคทรียา (Cattleya ) และ สกุล เดนโดรเบียม (Dendrobium ) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า สกุลหวาย กล้วยไม้ประเภทนี้จะมีลักษณะแปลกออกไปคือ มีรากใหญ่ ยาว และแตกแขนงรากอย่าง

โปร่ง ๆ เป็นรากอากาศแม้จะเกาะกับต้นไม้ก็จะมีส่วนที่ยาวและห้อยลงมาในอากาศด้วย แต่รากกล้วยไม้ สกุลแคทรียาและ เดนโดรเบียมมีลักษณะค่อนข้างเล็ก ละเอียดและหนาแน่นไม่โปร่งอย่างแวนด้า บางตำราจึงแยกกล้วยไม้สกุลแคทรียาและ เดนโดรเบียมไปไว้ในประเภทกึ่งอากาศ กล้วยไม้ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ มิใช่กาฝาก เป็นเพียงอาศัยเกาะ และอาศัยร่มเงาจาก กิ่งและใบ ของต้นไม้เท่านั้น มิได้แย่งอาหารใดๆ จากต้นไม้ที่อาศัยเกาะนั้นเลยรากของกล้วยไม้ได้อาศัยความชื้นจากอากาศ หรือ จากเปลือก ของต้นไม้และอาศัยธาตุอาหารต่าง ๆ จากการผุ และสลายตัวของใบไม้ที่ผุเปื่อยแล้วกล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่มีสีเขียว เช่น เดียวกับต้นไม้ทั่วไป จึงมีความต้องการแสงสว่าง น้ำ หรือ ความชื้น ธาตุอาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโตและผลิดอกออกช่อตามเวลาอันสมควร ไม่แตกต่างไปจากต้นไม้อื่นๆเลย

 

 
     

 

การปลูกเลี้ยงหวาย

การปลูกเลี้ยงหวาย

PostDateIcon Friday, 26 June 2009 00:34 | PostAuthorIcon Author: Administrator | PDF Print E-mail

หวาย(Dendrobium spp.) ถือว่าเป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงในประเทศไทยได้ง่ายที่สุด เพราะสภาพอากาศบ้านเราเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเลี้ยง อีกทั้งยังให้ดอกง่ายทุกฤดุกาล จึงเป็นสายพันธุ์ที่มีการนำมาตัดดอกจำหน่ายส่งไปทั่วโลก การปลูกเลี้ยงก็มีหลายวิธีทั้งการปลูกลงกระบะกาบมะพร้าวอัด ปลูกลงกระถางโดยใช้กาบมะพร้าวหรือถ่าน ในส่วนกระถางสามารถใช้ได้ทั้งกระถางพลาสติคและกระถางดินเผา เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับประเทศไทยจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสม(Hybrid)ขึ้นมามากมายหลายสีสัน ในปัจจุบันได้มีการปลูกเพื่อขายทั้งกระถาง(Potplant)เพื่อจะนำไปประดับตกแต่งสถานที่ต่างๆ เช่นโรงแรม ห้องประชุม โรงพยาบาล สำนักงาน เนื่องจากมีราคาถูก ออกดอกง่าย ดูแลง่าย

 กล้วยไม้หวาย เป็นกล้วยไม้ที่สกุลใหญ่ที่สุด มีแหล่งกำเนิดในเขตร้อนของภูมิภาคเอเชีย และมหาสมุทรแปซิฟิค มีระบบรากกึ่งอากาศและมีการเจริญเติบโตแบบแตกกอ(Sympodial) มีการเจริญเติบโตดีกว่ากล้วยไม้ประเภทอื่นๆแตกหน่อ2-3หน่อต่อปี โดยปกติจะเกิดหนึ่งหน่อต่อหนึ่งลำ แต่ถ้าเลี้ยงดีอาจให้สองหน่อต่อหนึ่งลำได้ ลำๆหนึ่งใช้เวลาประมาณ3-6เดือนก็จะเจริญสุดลำ เมื่อกล้วยไม้เจริญสุดลำก็จะให้ดอก1-5ช่อจากตาที่ปลายลำและตาข้อที่ถัดลงมา ซึ่งแต่ละลำสามารถให้ช่อได้ประมาณ5-15ช่อแล้วแต่สายพันธุ์และความสมบูรณ์ของต้น

หวายแคระ

  • การรดน้ำ ปกติรดน้ำในช่วงเช้าวันละ1ครั้ง แต่ถ้าในฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนจัดอาจให้ตอนเย็นเพิ่มอีกครั้ง แต่ควรสังเกตุให้แห้งก่อนค่ำ เพราะถ้ารดน้ำมากไปอาจทำให้เกิดโรคขึ้นได้

  • การให้ปุ๋ย ในฤดูร้อนควรให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 21-21-21,18-18-18 เพราะกล้วยไม้ต้องการไนโตรเจน แต่ในฤดูฝนควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูงสลับกับฟอสฟอรัสสูงสลับกัน เพราะในน้ำฝนมีธาตุไนโตรเจนเจือปนมาอยู่แล้ว ถ้ายังให้ปุ๋ยสูตรเสมออยู่จะทำให้กล้วยไม้ต่อยอด ออกดอกยาก ปลายยอดบิดเบี้ยวเสียรูปทรง

  • ยาฆ่าเชื้อราและยาฆ่าแมลง ควรให้ทุกอาทิตย์ สำหรับท่านที่ปลูกเลี้ยงไว้ดูเล่นภายในบ้านอาจเปลี่ยนมาใช้พวกสารชีวภาพเพื่อสุขภาพของคนในครอบครัว เช่นยาฆ่าแมลงก็ใช้น้ำส้มควันไม้

 ไม่ควรนำกล้วยไม้หวายติดตอไม้โดยไม่มีเครื่องปลูกนะครับ อาจหุ้มด้วยเศษกาบมะพร้าวหรืออ๊อสมันด้าเล็กน้อย เพราะกล้วยไม้หวายจะไม่งาม

ลักษณะกล้วยไม้หวายที่ดี

  1. ปลูกเลี้ยงง่าย ทนต่อโรค

  2. เจริญเติบโตเร็ว ออกดอกเร็ว และดกตลอดปี

  3. รูปทรงต้นแข็งแรง ลำต้นไม้สูงเกินไปเหมาะแก่การนำไปตกแต่งประดับสถานที่

  4. ทนต่อแมลงศัตรูพืชต่างๆ

  5. ช่อดอกยาว ตั้งตรงแข็งแรง

  6. ดอกเรียงเป็นระเบียบสวยงาม ดอกบานทนไม่ร่วงง่าย

  7. ดอกมีสีสันสดใส กลีบหนา รูปทรงดอกได้สมดุล

การปลูกเลี้ยงแคทลียา

การปลูกเลี้ยงแคทลียา

PostDateIcon Friday, 26 June 2009 00:31 | PostAuthorIcon Author: Administrator | PDF Print E-mail

 แคทลียา(Cattleya) นั้นมีการเจริญเติบโตแบบแบบแตกกอ หรือแบบซิมโพเดียล การเลี้ยงแคทลียาให้โตตั้งแต่เล็กจนถึงออกดอกนั้นตั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า2ปีตั้งแต่ออกขวด ดังนั้นเครื่องปลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเครื่องปลูกผุพังก่อนทำให้เราต้องเปลี่ยนเครื่องปลูกก็จะทำให้กล้วยไม้เกิดการชะงักหยุดการเจริญเติบโต เครื่องปลูกที่นิยมใช้กันก็มี ถ่าน กาบมะพร้าวและออสมันด้า ส่วนกระถางก็นิยมกระถางดินเผาซึ่งเก็บความชื้นได้ดีและกระถางพลาสติคทั่วไป

LC.เนตรศิริด๊ากสตาร์

  • ถ่านหุงข้าว ควรทุบให้ถ่านมีขนาดปริมาณ 3-4ซม.เพื่อให้ใส่ในกระถางได้และช่วยให้ลำต้นไม่ล้มเอน แต่การปลูกด้วยถ่านนั้นเวลารดน้ำควรรดให้มากหน่อยเพราะถ่านจะแห้งเร็วกว่ากาบมะพร้าว แต่ความคงทนนั้นนานกว่ามาก ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องปลูกบ่อย
  • กาบมะพร้าว ท่านที่เลือกใช้กาบมะพร้าวทำให้แคทลียาเจริญเติบโตได้ดี รวดเร็วสังเกตุแคทลียาที่ปลูกในกาบมะพร้าวจะงามมากกว่าปลูกในถ่านเพราะแคทลียาชอบน้ำมาก แต่กาบมะพร้าวจะพุพังเร็ว2-2.5ปีก็ต้องเปลี่ยนเครื่องปลูกแล้ว ยิ่งคนที่ใช้ปุ๋ยหรือสารบางชนิดกาบมะพร้าวอาจอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ต้องเปลี่ยนแล้ว
  • ออสมันด้า เวลาใช้ก็ให้อัดตามแนวตั้งให้ส่วนบนอยู่พอดีกับปากกระถาง ออสมันด้าจะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่ากาบมะพร้าวและให้ความชื้นพอใช้ได้

การขยายพันธุ์กล้วยไม้แคทลียากล้วยไม้แคทลียาเป็นกล้วยไม้ประเภทซิมโพเดียลหรือประเภทแตกกอ ดังนั้นเราสามารถขยายพันธุ์แคทลียาได้ 2 วิธี คือ

  • การแยกหน่อหรือตะเกียง ซึ่งต้นที่เราแยกจากต้นเดิมนั้นจะมีลักษณะคุณสมบัติเหมือนต้นเดิมทุกประการ
  • การผสมเกสร ซึ่งวิธีนี้จะได้ลูกกล้วยไม้ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะได้ลักษณะที่ถ่ายทอดมาจากทั้งต้นพ่อและต้นแม่

วิธีการปลูก
การออกขวดแคทลียา

หลังจากที่เราได้ไม้ขวดที่เกิดจากการปั่นตาหรือเพาะเมล็ดแล้ว ถ้าพร้อมก็ออกขวดได้เลยครับ แต่ถ้ายังไม่พร้อมต้องเก็บไว้ใต้ซาแลน 50-60% ที่สำคัญห้ามโดนฝนเด็ดขาดนะครับ จะทำให้เชื้อราเข้าทางจุกได้ เริ่มเลยนะครับให้นำขวดมาทุบบริเวณส่วนของก้นขวด ก่อนทุบให้เขย่าๆ ให้กล้วยไม้ดันมาที่หัวขวด ซึ่งบริเวณที่จะทุบกล้วยไม้จะได้ไม่ช้ำ บางทีในสวนเขาก็ใช้ลวดค่อยๆเขี่ยออกมาเพราะจะได้นำขวดกลับไปใช้ใหม่ได้อีกครับ  แล้วค่อยๆเทกล้วยไม้ออกมาใส่ในกะลามังที่เตรียมไว้ แล้วค่อยๆแยกวุ้นออกจากรากกล้วยไม้ ควรระวังไม่ให้รากกล้วยไม้ช้ำ หรือหลุด จากนั้นก็อาจจะนำไปแช่ยากันราต่อ หรือใส่ยากันเชื้อราลงไปเลยในขั้นตอนแยกวุ้นออก

การปลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก
ภาชนะปลูกที่เหมาะสมกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว หาซื้อได้ตามร้านทั่วไปเลยครัย มีทั้งกระถางพลาสติคหรือกระถางดินเผาบอกร้านเขาได้เลยบางท่านอาจซื้อตระแกรงมาวางด้วยก็ได้นะครับเพื่อความเป็นระเบียบ การปลูกโดยการนำกาบมะพร้าวอ่อนมาพันรอบๆ รากกล้วยไม้ให้อยู่ตรงกลาง ระวังอย่าให้ช้ำเกินไป และกะจำนวนวัสดุปลูกให้ใส่ลงไปในภาชนะปลูกได้พอดี โดยที่กล้วยไม้ไม่ขยับหลุดออกมาได้ จากนั้นก็ยัดลงไปในกระถาง ก่อนนำกาบมะพร้าวมาใช้ควรแน้ก่อนซัก 1 คืนนะครับ เพื่อให้ยางมันออก

เนลแฮมเมอร์=(หาดใหญ่*ลูกต้น)

การปลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่

ท่านที่ใช้วัสดุปลูกเป็นกาบมะพร้าวซึ่งส่วนมากจะใช้กาบมะพร้าวที่มีเปลือกหรือเรียกว่ากาบแข็งครับ สำหรับท่านที่ปลูกตามบ้านอาจจะให้มีรากติดต้นมาบ้าง แต่ตามส่วนมากจะตัดให้เกลี้ยงเลยครับ วันสองวันกล้วยไม้ก็จะโผล่รากใหม่ออกมาแล้วละครับ  แต่ต้องมัดลำกล้วยไม้ติดกับลวดแขวนด้วยหรือตามสวนเขาก็ใช้ไม้ปักแล้วเอาฟิวส์มัดไว้ให้โคนต้นติดกับกาบมะพร้าว ส่วนตำแหน่งที่วาง ควรจะให้ลำหน้าสุดอยู่บริเวณตรงกลาง เพื่อจะได้ไม่แตกหน่อ ออกไปนอกกระถางเร็วถ้าเอาลำหน้าไว้ริมๆ และบริเวณส่วนโคนไม่ควรจมลงไปในกาบมะพร้าว ควรจะวางให้ห่างซักเล็กน้อย หรือวางทับลงไป
สำหรับกระถางดินเผาที่เหมาะใช้กับวัสดุปลูกเป็นพวกถ่าน เศษอิฐ หรือเครื่องปลูกผสมอื่นๆ นำกระถางมาเตรียมใส่ลวดแขวนให้เรียบร้อย  จากนั้นก็นำถ่านขนาดพอเหมาะ(เส้นถ่านศูนย์กลาง 1 นิ้วขึ้นไป) ใส่ๆลงไปในกระถาง โดยเหลือพื้นที่ไว้ซัก 0.5 หรือ 1 นิ้วบริเวณขอบกระถาง จากนั้นก็วางตำแหน่งลำหน้าให้ดี คือให้อยู่บริเวณตรงกลางกระถาง และใช้ลวดยึดลำกล้วยไม้ไว้กับลวดแขวน ส่วนบริเวณโคนลำสามารถวางติดกับวัสดุปลูกได้เลย

 แคทลียาส่วนมากที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปจะเป็นกล้วยไม้ที่ออกดอกปีละครั้ง ซึ่งแคทลียาจะเป็นกล้วยไม้ที่ออกดอกเฉพาะลำหน้าสุดเท่านั้น ซึ่งบางสายพันธุ์อาจจะเป็นไม้กอซึ่งมีลำหน้าหลายทางทำให้ออกดอกได้หลายลำ และยังมีปัจจัยต่างๆที่ทำให้แคทลียาออกดอกยากอีกหลายประการ อย่างบางท่านให้ปุ๋ยตัวหน้ามากไป ไม่ยอมเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยตัวกลางบ้าง หรือกล้วยไม้อาจถูกแมลงศัตรูพืชรบกวน ปกติก่อนที่แคทลียาจะออกดอกจะมีซองดอกออกมาก่อน ซึ่งบางครั้งมีซองออกมาแต่ไม่ออกดอกก็เป็นได้ แต่ไม่ควรฉีกซองทิ้งนะครับ บางครั้งเมื่อถึงฤดูกาลเขาก็จะให้ดอกออกมาเอง

เอื้องโมก และ เอื้องโมกพรุ

เอื้องโมก และ เอื้องโมกพรุ

     หากกล่าวถึง คำว่า ใบกลม หรือ terete ในภาษาอังกฤษแล้ว ในแวด วงกล้วยไม้ มีความหมาย ถึงลักษณะของใบกล้วยไม้รูปร่างกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอก ที่เมื่อตัดขวางใบแล้ว รอยตัดมีลักษณะกลม กล้วยไม้ใบกลมที่ดอกสวยงามที่มีลักษณะเด่นที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ เอื้องโมก (Vanda teres syn. Papilionanthe teres) และ เอื้องโมกพรุ (Vanda hookeriana syn. Papilionanthe hookeriana)
     เอื้องโมก เป็นกล้วยไม้ใบกลมพันธุ์แท้ที่สวยงาม มีถิ่นกระจายพันธุ์ตั้งแต่ เชิงเขาทางด้านใต้ของภูมิภาค หิมาลัย กระจายพันธุ์ ลงมาถึงประเทศเมียนมาร์และไทยถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ Sylhet .ในช่วงปี คศ. ๑๘oo โดย ดร. นาทาเนล วาลิช (Nathaniel Wallich) แห่งสวนพฤกษศาสตร์ กัลกัตต้า ประเทศอินเดีย (๑๘๑๕-๑๘๔๑)โดยในช่วงนั้นดร. วาลิช ได้เดินทางเก็บตัวอย่าง พันธุ์พืชหลายชนิดรวมถึง เอื้องโมก จากประเทศเนปาล
     ต่อมาเขาได้นำ เอื้องโมก กลับไปปลูกที่ประเทศอังกฤษ ในปี คศ . ๑๘๒๙ และต่อมาได้ออกดอกในปี คศ. ๑๘๓๓. และภายหลังนาย จอห์น ลินเลย์ (John Lindley) นักพฤกษศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษได้ศึกษาและจำแนกชนิดพันธุ์ เอื้องโมก จากตัวอย่างแห้งที่เก็บโดย ดร. วาลิช และลงตีพิมพ์ลงในวารสาร พฤกษศาสตร์ ชื่อ Genera and species of Orchidaceous Plants จนกระทั่ง ในปี คศ . ๑๙๗๔ . นาง เลสลี่ การ์เร่ (Leslie Garay) ได้เปลื่ยนชื่อสกุลของ เอื้องโมก จากสกุลแวนด้า มาใช้ชื่อสกุล ปาปิลิโอเนนเท (Papilionanthe) ซึ่งชื่อสกุล ปาปิลิโอเนนเท นี้เป็นชื่อเดิมที่ได้ถูกตั้งชื่อใช้เรียกขึ้นมาก่อนแล้ว โดยนาย ฟรายดริช ริชาร์ด รูดอฟ ชเล็คเตอร์(Friedrich Richard Rudolf Schlecter) นักพฤกษศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ ชาวเยอรมัน

     ทุกๆวันนี้ กล้วยไม้สกุล เอื้องโมก จะถูกจำแนกชนิดด้วยลักษณะใบที่กลมมน ซึ่งเป็นที่ยึดถือ ของบรรดานักพฤกษศาสตร์ส่วนใหญ่ ภายหลัง ได้ถูกพิจารณาแบ่งแยกกล้วยไม้สกุลนี้ ออกมาจาก กล้วยไม้สกุลแวนด้า
     เอื้องโมก เป็นกล้วยไม้ที่มีต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ชอบขึ้นทอดลำต้นเลื้อยขึ้นไปตามต้นไม้ขนาดใหญ่ กล้วยไม้ที่ชอบแสงแดดจัดชนิดนี้ อาจมีลำต้นสูงได้หลายเมตร แตกกอและหน่อแขนงได้ง่าย มีลักษณะต้นและใบ กลม เรียวเล็ก ตั้งตรง หรือ อาจโค้งได้ ในบางครั้ง เอื้องโมก จะแทงตาดอกออกตามข้อ ลำต้นช่วงข้อที่ใกล้กับส่วนยอดของต้น ดอกมีขนาดใหญ่ประมาณ ๔ นิ้ว ในช่อมีดอกได้มากจำนวน ๓-๕ ดอก กลีบดอกสีชมพูขาว กลีบปากมีสีชมพู ที่หายากคือชนิดที่กลีบดอกสีชมพู แต่มีส่วนของกลีบปากสีเหลืองสด และจำนวนน้อยมากที่พบ ลักษณะกลีบดอกและปากสีขาวล้วนทั้งหมด
     โดยธรรมชาติ ในป่าเขตร้อน เอื้องโมก จะออกดอกได้ไม่เป็นฤดู และสามารถแทงดอกได้บ่อยครั้งต่อปี แล้วแต่แหล่งที่มาของ เอื้องโมก แต่ในสภาพ กึ่งเขตร้อน หรือในสภาพ การปลูกเลี้ยง ทั่วไป เอื้องโมก สามารถออกดอกได้ ๑-๒ ครั้ง ต่อปี ในช่วงเดือน มีนาคม –สิงหาคม

เอื้องโมกพรุ (Phapilionanthe hookeriana ชื่อพ้องเดิม=.Vanda hookeriana)

     เอื้องโมกพรุ เป็นกล้วยไม้ที่พบขึ้น ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ในบริเวณแหลมสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และภูมิภาคมาเลเซีย-แพนนิซูล่า นายโธมัส ล็อป และ นายฮัค โล ( Thosmas Lobb & Hugh Low )ได้เก็บตัวอย่างสายพันธุ์ เอื้องโมกพรุ ครั้งแรก จากเกาะบอร์เนียว ได้นำมาปลูกเลี้ยงและส่งต่อมายัง สวนพฤกษศาสตร์หลวง คิว แห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) Royal Botanic Garden Kew โดยนายเฮช จี ริชเชนบิช (H. G.Reichenbach)ได้ศึกษาและ จำแนกชนิดพันธุ์ กล้วยไม้ชนิดนี้โดยในครั้งแรก ได้ถูกจัดให้ อยู่ในสกุล แวนด้า เช่นเดียวกับเอื้องโมก ต่อมาในภายหลัง หลังจากได้มีการศึกษาค้นคว้า อย่างละเอียด กล้วยไม้ชนิดนี้ ก็ถูกจัดให้กลับไปอยู่ในสกุล ปาปิลิโอเนนเท่ เช่นเดียวกับ เอื้องโมก ซึ่งชื่อสกุล Papilionanthe (Papilio แปลว่า ผี้เสื้อ- nanthe = ดูคล้าย) ชื่อสกุลนี้มาจากรากศัพท์ ภาษาละตินสองคำ มีหมายความถึงลักษณะของดอกที่ดูคล้ายผีเสื้อนั่นเอง
     ลักษณะภายนอกทั่วไป ลักษณะต้นคล้ายกันกับ เอื้องโมก ทุกประการ แต่ลำต้นและใบจะผอมบางกว่าเล็กน้อย ปลายใบมีรอยหยักคอดแหลมลักษณะคล้ายตะขอ อันเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ โดยคำว่าฮุกเคอเรียน่า หมายความถึงลักษณะปลายใบที่หยักแหลมคล้ายตะขอ
     ในธรรมชาติ เอื้องโมกพรุ สามารถเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมีลำต้นที่สูงมาก ฤดูออกดอกอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ในธรรมชาติ ก็พบได้ว่า เอื้องโมกพรุ ออกดอกได้ไม่เป็นฤดู ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ก้านดอกออกตามข้อของลำต้นในบริเวณใกล้ส่วนยอดของต้น ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ นิ้ว ในช่อมีจำนวนดอก๒-๔ ดอก กลีบดอกกลม สีโทน ชมพูอ่อน กลีบปากขนาดใหญ่กว้าง มีแต้มสีม่วงแดงเข้มชัดเจน

สายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสม ในกลุ่มสกุลเอื้องโมก
รูปภาพ : vanda miss joaquim from singapore’s national flower © kenyee
     รีเนนเทนด้า มอร์เจนรูท (Renantanda Morgenrood) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมในกลุ่มสกุล เอื้องโมก ชนิดแรกเป็นคู่ผสมระหว่าง เอื้องโมก กับ รีเนนเทอร่า สตอริไอ(V.teres x Renanthera storei) จากเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ ในปี คศ. ๑๘๕๖. ผู้ขอจดทะเบียนคือ โจเซฟฟิน เวนบริโร (J.van Brero) อย่างไรก็ตามลูกผสมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่าง กว้างขวาง ได้แก่ แวนด้ามิสโจคิม (V. Miss Joaquim) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก กับ เอื้องโมกพรุ( (V.teres x V.hookeriana) นายริดเลย์ (H.N.Ridley) ได้เป็นผู้ขอจดทะเบียนตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ในปี ค ศ.๑๘๙๓. ซึ่งกล้วยไม้ลูกผสมชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในการปลูกประดับตกแต่งประดับสวนเขตร้อน และดอกยังนิยมใช้ทำพวงมาลัยแบบฮาวาย และใช้ในการประดับตกแต่งอื่นๆทั่วไปอีกด้วย
     แวนด้ามิสโจคิม ได้ถูกนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผสมเพื่อสร้างสรรค์กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆ ไม่ต่ำกว่า๘๕สายพันธุ์ลูกผสมใหม่ที่มีสายเลือดมิสโจคิม หนึ่งในจำนวนนั้นอาทิเช่น แวนด้า เมิอร์ แอล เวลทุยส์ (Vanda Merr L.Velthuis) ซึ่งได้ถูกนำผสมใช้ผสมต่อในชั้นหลังๆ จนได้ลูกผสมมากมายที่จดทะเบียนตั้งชื่อใหม่ถึง ๔o ชนิด
     เอื้องโมกพรุ ก็ได้ นำมาผสมข้ามชนิดข้ามสกุล จนได้ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆประมาณ ๒๕ ชนิด หลังจาก แวนด้ามิสโจคิม ยังมีกล้วยไม้ลูกผสมสายเลือด เอื้องโมกพรุ ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันดี อีกเช่น แวนด้า คูเปอรี (V. Cooperi) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมกพรุ กับ แวนด้ามิสโจคิม (V.hookeriana x V.Miss Joaqium) ได้จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นกล้วยไม้ลูกผสม ชนิดใหม่ ในปี ค ศ . ๑๘๙๓.
     เอื้องโมก ก็ได้ถูกนำมาใช้ผสม และได้ ลูกผสมชนิดใหม่ๆมากกว่า ๘o ชนิด ลูกผสม เอื้องโมก ที่นับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ โจเซฟฟิน แวน บริวโร ( V.Josephine van Brero) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก และแวนด้า อินซิกเน่ จากประเทศอินโดนีซีย (V.teres x V. insigne) กล้วยไม้ลูกผสม เอื้องโมก ชนิดนี้ได้จดทะเบียน ตั้งชื่อเป็นกลวยไม้ชนิดใหม่ เมื่อปี ค ศ. ๑๙๓๖ . จากลักษะเด่นของกลีบดอกสีม่วงชมพู กลีบปากสีส้มแดงเข้ม ลูกผสมชนิดนี้ได้ถูกนำมาใช้ เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อสร้างสรรค์ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆ ต่อเนื่องขึ้นมาอีก ไม่ต่ำกว่า ๑๒o ชนิด
     ลูกผสมอีกชนิดของ เอื้องโมก เช่น แวนด้า เอ็มมา แวน ดีเวนเตอร์ (V. Emma van Deventer) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก และแวนด้า ไตรคัลเลอร์ จากประเทศอินโดนีเซีย (V.teres x V. tricolor) จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นลูกผสมชนิดใหม่โดยนาย แวน ดีเวนเตอร์ ในปี ค ศ . ๑๙๒๖ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดนี้ได้ใช้เป็นพ่อแม่ในการผสมครั้งต่อมา และกล้วยไม้ลูกผสมใหม่ๆเกิดขึ้นมากว่า ๔o ชนิด รวมถึง แวนด้า แนลลี่ มอร์เลย์ ( V. Nellie Morley ) ซึ่งได้รับรางวัล เกียรตินิยมจากสมาคมกล้วยไม้อเมริกัน มากกว่า ๕๘ รางวัล ลูกผสม เอื้องโมก ต่างๆเหล่านี้ ได้ปลูกเลี้ยงและใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม กล้วยไม้ตัดดอก อย่างแพร่หลาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การปลูกเลี้ยง เอื้องโมก และ เอื้องโมกพรุ
รูปภาพ : แปลงปลูก เอื้องโมกพรุ © lenkline
     แสง : กล้วยไม้แวนด้าใบกลม และแวนด้าใบร่องลูกผสม เกือบทุกชนิด ชอบแสงแดดจัด เป็นปัจจัย ให้ผล ถึงนิสัยที่ออกดอกได้ตลอดปีแล้ว ในการออกดอกแต่ละครั้งยังให้ดอกจำนวนมาก ในแต่ละช่อได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับสภาพแวดล้อมให้นำเข้ามาปลูกในโรงเรือน หรือปลูกในอาคารในสถานที่เลี้ยงที่ต้องอาศัยแสงจากหลอดไฟ เช่นทาง ประเทศแถบยุโรปและเอมริกาเหนือ
     น้ำและความชื้น : กล้วยไม้ กลุ่มนี้ ชอบน้ำและความชื้นที่มากพอเพียง รดน้ำให้ชุ่มโชกวันละครั้ง ตอนเช้าเมื่อแสงแดดยังไม่จัด หากในช่วงที่อากาศแห้งมาก สามารถ เพิ่มการรดน้ำในช่วงค่ำได้อีกครั้ง และควรงดเว้นการให้น้ำในช่วงเวลาที่มีแสงแดดจัด และควรจัดปลูกให้ภาชนะที่มีการระบายอากาศเพราะกล้วยไม้กลุ่มนี้เป็นกล้วยไม้ รากอากาศที่ชอบการระบายน้ำดี หาก เครื่องปลูกแฉะ เกินไปอาจทำให้เกิดอาการ รากเน่าได้
     ปุ๋ย : กล้วยไม้กลุ่มนี้มักชอบให้ใช้ปุ๋ยบ่อยครั้ง เหมาะกับให้ปุ๋ยเป็นประจำและสม่ำเสมอ ทุกสัปดาห์ ใช้ปุ๋ยเกร็ด ละลายน้ำ สตูรเสมอ 21-21-21 ฉีดพ่นบำรุงต้น ตามอัตราส่วนที่ระบุข้างฉลากของภาชนะที่บรรจุ อาจเสริมการให้ปุ๋ย สูตร ตัวกลางและตัวท้ายสูงในช่วงระยะที่กล้วยไม้อยู่ในช่วงฤดูออกดอก
     ภาชนะ : กล้วยไม้ชนิดนี้มักปลูกในกระถางดินเผา กระเช้าไม้สักแขวน หรือปลูกติดเสา ติดหลักไม้ วัสดุปลูกใช้ กาบมะพร้าว ถ่าน หรือ หินภูเขาไฟ กล้วยไม้กลุ่ม เอื้องโมก และลูกผสมนี้สามารถ ปลูกประดับ ตกแต่ง ในบริเวณสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อม ของภูมิอากาศ แบบเขตร้อน ชื้น หรือ กึ่งร้อนชื้น โดยสามารถปลูกเป็นแนวรั้ว ปลูกเป็นกลุ่มๆ ปลูกรวมกันในภาชนะขนาดใหญ่ หรือปลูกลงแปลงได้ซึ่งเราจะได้ชื่นชมกับดอกสีสันสดใส ที่ออกได้บ่อยครั้งและบานทนนานกว่ากล้วยไม้กลางแจ้งชนิดอื่นๆ ซึ่ง สามารถ สร้างสรรค์บรรยากาศของสวนเขตร้อนให้กับสถานที่ของคุณได้เป็นอย่างดี

กล้วยไม้สกุลแวนด้า Vanda

กล้วยไม้สกุลแวนด้า Vanda

      หากเอ่ยถึง แวนด้า คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่มีใครรู้จัก อย่างน้อย ๆ เราก็ต้องรู้จักกับเจ้าเอื้องฟ้ามุ่ย กล้วยไม้สกุล แวนด้า ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และกลายเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มากที่สุดก็ว่าได้
     แวนด้า (Vanda) เป็นกล้วยไม้ที่อยู่ในประเภท “โมโนโพเดี้ยล” ครับ หมายถึง เป็นกล้วยไม้ที่ ไม่แตกกอ มีการเจริญเติบโตไปทางยอด ลักษณะทั่วไปของ แวนด้า คือ รากเป็นรากอากาศ ใบของ แวนด้า นั้นมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบจะเรียงตัวซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอก แวนด้า นั้นยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีสั้นของดอก แวนด้า เราอาจพบเห็นได้มากที่สุดคือ สีน้ำเงินเข้ม สีครามอ่อน สีชมพู สีเหลือง หรือแม้กระทั้งสีเขียว หรือ ดำก่ำ และยังมีอีกมากหมายหลายสีขนาดที่ว่าหากเดินหลงเข้าดงของดอก แวนด้า แล้วมันไม่ต่างอะไรจากบ้านขนมหวานของฮันเซลและเกรเทลทีเดียว !


♠ ภาพ ลักษณะใบของ แวนด้า
     ในโลกนี้ เราในฐานะชาวเอเชีย อาจเป็นผู้ที่โชคดีที่สุดก็ว่าได้ เพราะเราพบว่า แวนด้า ได้เติบโตและแพร่กระจายพันธุ์ในธรรมชาติของเอเชียราว ๆ ๔๐ ชนิด หากเราได้มีโอกาสไปยังประเทศ อินเดีย เราอาจจะได้พบกับ แวนด้า เทสเซลาต้า กล้วยไม้ที่ขึ้นชื่อว่าใกล้สูญพันธุ์และกลิ่นหอมแรง หรือ แวนด้า ไตรคัลเลอร์ ที่มีสีสันถึงสามสีบนพื้นดอกเดียว เมื่อลองสำรวจบนผืนเกาะฟิลิปินส์เราก็จะได้พบกับต้นกำเนิด แวนด้า สองสีหรือทูโทนอย่างเจ้า แวนด้าแซนเดอเรียน่า กล้วยไม้ที่ขึ้นชื่อบัญชีว่าเป็นกล้วยไม้ใกล้สูญพันธุ์และเป็นพันธุ์ไม้ที่หวงแหนที่สุดของฟิลิปินส์ และในไทย เราเองก็มี แวนด้าฟ้ามุ่ย กล้วยไม้ที่ได้รับการยอมรับว่าสวยมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก นอกจากนี้ แวนด้ายังกระจายพันธุ์กว้างขวางไปตามประเทศต่าง ๆ อีก เช่น ศรีลังกา พม่า อินโดนีเซีย รวมไปถึง ทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ
     ในปัจจุบัน แวนด้า ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นอีกหลายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจำแนกประเภทของ แวนด้า โดยอาศัยรูปร่างลักษณะของใบออกเป็น ๔ ประเภท คือ
◙ แวนด้าใบกลม มีลักษณะของใบกลมยาวทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง สังเกตได้ที่ใบติดอยู่ห่างๆ กัน มีดอกช่อละหลายดอก แต่ดอกจะบานติดต้นอยู่คราวละ ๒ – ๓ ดอกเท่านั้น เมื่อดอกข้างบนบานเพิ่มขึ้น ดอกข้างล่างจะโรยไล่กันขึ้นไปเรื่อยๆ การปลูกใช้ดอกจึงนิยมปลิดดอกมากกว่าตัดดอกทั้งช่อ
◙ แวนด้าใบแบน ลักษณะใบแผ่แบนออก เป็น แวนด้า ที่ปลายใบโค้งลงและจักเป็นแฉก ถ้าตัดมาดูหน้าตัดจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ปล้องสั้น ใบซ้อนชิดกัน
◙ แวนด้าใบร่อง มีรูปทรงของใบและลำต้นคล้ายใบแบนมากกว่าใบกลม แวนด้าประเภทนี้ไม่พบในป่าธรรมชาติ การนำมาปลูกเลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น โดยนำแวนด้าใบกลมมาผสมกับแวนด้าใบแบน
◙ แวนด้าก้างปลา มีรูปทรงของใบและลำต้น กิ่งใบกลมกับใบแบน กล้วยไม้กลุ่มนี้พบว่าเป็นหมันเสียส่วนใหญ่ จึงพบว่ามีจำนวนในธรรมชาติน้อยมาก


♠ ภาพ เข็มขาว กล้วยไม้ที่ใคร ๆ ก็เรียกชื่อต้นว่า เข็ม แต่จริง ๆ เป็น แวนด้า (Vanda lilacina) ครับ
     แวนด้า ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคงจะหนีไม่พ้น เอื้องฟ้ามุ่ย เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ที่มีดอกใหญ่ สีสวย อีกทั้งยังหายากด้วยครับการเลี้ยง แวนด้า ใบแบนนั้นจำเป็นต้องโรงเรือนเพื่อช่วยในการลดทอแสงให้อ่อนลง แวนด้า ที่ดูเหมือนจะเลี้ยงง่ายที่สุดน่าจะเป็น แวนด้าใบกลม เนื่องจากเป็น แวนด้า ที่ทนร้อนเก่งและไม่จำเป็นต้องมีโรงเรือนก็สามารถเลี้ยงได้โดยง่าย ส่วน แวนด้า ที่มีใบเป็นร่องหรือที่เราเรียกว่า แวนด้าใบร่อง นั้นเกิดจากลูกผสมระหว่าง แวนด้าใบกลม เข้ากับ แวนด้าใบแบนครับ ทั้งนี้ก็เพราะว่า แวนด้าใบแบนนั้นเลี้ยงค่อนข้างยาก จึงต้องนำมาผสมกับใบกลมเพื่อให้ลูกออกมาสามารถเลี้ยงได้ง่ายขึ้นและมีสีสวยบานทนขึ้นนั่นเองครับ

ลักษณะที่ดีของแวนด้านั้นกล่าวไว้ว่า
• ดอกฟอร์มต้องกลม อย่างฟ้ามุ่ยต้องพัฒนาให้กลม (แต่ปัจจุบัน ฟอร์มแบบบิน ๆ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กันนะ)
• จำนวนดอกในก้านช่อ ๑ ก้าน ต้องมีจำนวนมากเข้าไว้ เช่นสามปอยขุนตานควรจะมีราว ๆ ๗ – ๘ ดอกเป็นต้น
• ก้านดอกสั้น หมายถึงเมื่อก้านดอกสั้นดอกจะกระจุกติดกับก้านช่อทำให้ดูเป็นพุ่มดอกสวยงามครับ
• ลวดลายบนดอกชัดเจน เช่น ฟ้ามุ่ยก็ต้องมีลายสมุกที่ชัดถึงจะสวยครับ
• ก้านช่อต้องแข็งและยาว เพื่อที่จะรับน้ำหนักของจำนวนดอกได้นั่นเองครับและยาวมากจำนวนดอกมาด้วยก็จะยิ่งสวยครับ


♠ ภาพ แวนด้า สามปอยขุนตาน เป็นแวนด้าพันธุ์แท้สายคุณชิเนนทร ที่มีจำนวนดอกถึง ๑๐ ดอกและมีคุณสมบัติครบถ้วนของลักษณะแวนด้าที่ดี
ลักษณะการปลูกเลี้ยง แวนด้า
     ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่า แวนด้า แต่ละชนิดนั้นชอบสภาวะอากาศแตกต่างกัน ถึงจะมีวิธีปลูกที่เหมือนกันแต่หากสภาวะโรงเรือนไม่เหมาะสมก็เฉาตายได้เหมือนกันครับ ทีนี้มาดูวิธีปลูกกันครับ
     • ส่วนใหญ่ แวนด้า เป็นกล้วยไม้รากอากาศครับ ดังนั้น ปลูกแบบใส่กระเช้าไม่ต้องใส่เครื่องปลูกก็ได้
     • การปลูก อาจจะใช้ฟิวมัดรากกับกระเช้าให้ไม่ให้ขยับได้ครับ
     • หลังจากนั้น นำอนุบาลไว้ในร่มรำไรหรือใต้แสลนอย่าถูกแสงมากจนกว่ารากจะเดินดี
     • แวนด้า ที่ออกขวดอาจจะผึ่งในตะกร้าสักระยะให้รากใหม่เดินแล้วค่อยหนีบนิ้วครับ
     • การหนีบนิ้วอาจจะใช้สเฟกนั่มมอส หรือ กาบมะพร้าวหนีบ
     • ไม้ใหม่รากยังไม่แข็ง อาจจะให้แต่น้ำหรือผสม บี๑ รดครับ
     • พอแข็งแรงดีก็ปรับเป็นให้ปุ๋ยสัปดาห์ละครัง เช่น ๒๑-๒๑-๒๑ เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นกล้วยไม้จะสวยหรือไม่สวยขึ้นอยู่กับความขยันของเราด้วยนะครับ หากขยัน แวนด้า ที่เราเลี้ยงก็จะให้ดอกสวยงามแต่หากไม่ละก็ แวนด้า ก็จะเฉาตายได้ครับ และก่อนจะนำ แวนด้า

กล้วยไม้สกุลเข็ม Ascocentrum

กล้วยไม้สกุลเข็ม Ascocentrum

      กล้วยไม้สกุลเข็ม (Ascocentrum) นับได้ว่าเป็นกล้วยไม้อีกชนิดของไทยที่ชอบแสงแดดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข็มแสด ที่สามารถทนสภาพแสงได้ถึง 100% และยังเป็นสกุลเข็มที่ให้ดอกเก่งสีจัดและสวยงามมากชนิดหนึ่งของไทย
     ด้วยความทนร้อนที่น่าเหลือเชื่อประกอบกับสีสันที่โดดเด่นสะดุดตามาแต่ไกล กล้วยไม้สกุลเข็ม จึงเป็นที่นิยมในการทำลูกผสมเข้ากับกล้วยไม้สกุลแวนด้าที่ชอบอยู่อากาศเย็น กลายเป็นลูกผสมสีสดชื่อดังมากมายจนลือชา

กล้วยไม้สกุลเข็ม แม้เราจะเรียกชื่อเหมือนกับว่าเป็นอีกหนึ่งสกุลของกล้วยไม้ แต่แท้จริงแล้ว กล้วยไม้สกุลเข็ม เป็นกล้วยไม้ประเภทแวนดา (Vandaceous Orchid) ที่มีขนาดเล็ก เท่านั้นเองครับ

กล้วยไม้สกุลเข็ม มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนดา สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น การเรียงตัวของใบเป็นแบบซ้อนทับกัน รูปร่างของใบแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่งใบแบน ใบค่อนข้างจะอวบน้ำ และแบบที่สองเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ รากเป็นระบบรากอากาศ ช่อดอกจะออกที่ตาตามข้อของลำต้นระหว่างใบต่อใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกหลายดอก ดอกมีขนาดเล็ก ดอกหันหน้าออกรอบด้าน กลีบนอกและกลีบในของดอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ปากขยับไม่ได้ ใต้ปากมีเดือยเป็นถุงยาว เดือยมีขนาดสั้นกว่ารังไข่และก้านดอก เส้าเกสรอ้วนสั้นไม่มีฐาน กลุ่มเรณูกลมมี 2 ก้อน กล้วยไม้สกุลเข็ม ทุกชนิดดอกมีรูปร่างคล้ายกันแต่แตกต่างกันในเรื่องสี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสีสดใส เช่น สีแดงอมส้ม สีม่วง สีส้ม หรือสีเหลืองอมส้ม เมื่อต้นกล้วยไม้มีอายุมากขึ้น หรือเมื่อยอดหักหรือยอดเน่าตาที่อยู่ด้านล่าง ๆ ของลำต้นจะแตกหน่อออกมา ทำให้เกิดมีหลาย ๆ ยอดได้ด้วยลักษณะและสีสันที่สดใสของดอกดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม เป็นราชินีของกล้วยไม้ประเภทแวนดาแบบกระเป๋า

Highslide JS

ภาพตัวอย่างของ กล้วยไม้สกุลเข็ม แสด

จากการสำรวจพบว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม ที่มีอยู่ในโลกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคพื้นทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีน พม่า ไทย ประเทศในแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อได้พิจารณาทางหลักภูมิศาสตราของอาณาบริเวณที่ปรากฏกล้วยไม้เหล่านั้นตามธรรมชาติแล้ว ก็น่าจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของแหล่งกำเนิด กล้วยไม้สกุลเข็ม สำหรับในประเทศไทยนั้นปรากฏว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทุกภาคบางภาคอาจมี กล้วยไม้สกุลเข็ม หลายชนิด แต่บางภาคอาจมีเพียงชนิดเดียว
     ในประเทศไทยเราพบว่ามี กล้วยไม้สกุลเข็ม ปรากฏตามธรรมชาติอยู่ 4 ชนิด คือ เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) เข็มแสด (Ascocentrum miniatum) และแอสโคเซ็นตรัม เซมิเทอเรตติโฟเลียม (Ascocentrum semiteretifolium – ยังไม่มีชื่อภาษาไทย)

 
ลักษณะเฉพาะของแต่ละชนิดHighslide JS

ภาพตัวอย่างของ เข็มแดง

ดอกของเข็มแดงบนต้นไม้
ภาพตัวอย่างเข็มแดงจากเว็บ flickr.com โดยคุณ b_inxee

เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) ถิ่นกำเนิดของเข็มแดงในประเทศไทย คือบริเวณเริ่มตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ต่ำลงไปถึงจังหวัดตากและกาญจนบุรี พบในป่าที่มีระดับความสูง 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในฤดูฝนความชื้นในอากาศค่อนข้างสูง แต่ในฤดูแล้วความชื้นในอากาศอาจจะลดลงเหลือเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ในต่างประเทศพบว่าเข็มแดงมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่แคว้นอัสสัมในประเทศอินเดีย ผ่านมาทางประเทศพม่าจนถึงประเทศไทย ลำต้นของเข็มแดงเมื่อสูงถึงประมาณ 20 เซนติเมตร มักจะพบว่าโค้งลงเพราะทรงตัวไม่ได้ และจะมีหน่อเกิดขึ้นทางส่วนล่าง ๆ ของลำต้น ใบค่อนข้างแคบ โค้ง เรียว และยาวที่สุดในบรรดา กล้วยไม้สกุลเข็ม ทุกชนิดที่พบในประเทศไทยด้วยกัน ความยาวของใบประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ค่อนข้างจะอวบน้ำ ใบเป็นสีเขียวอ่อน อ่อนกว่าสีของใบเข็มม่วงและเข็มแสดในระหว่างฤดูแล้วขอบของใบจะปรากฏเป็นจุดสีม่วงขึ้นประปราย และเมื่อความแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้นจุดสีม่วงบนใบก็จะมีหนาแน่นยิ่งขึ้น ฤดูออกดอกอยู่ในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นที่กำลังให้ดอกอาจมีดอก 3-4 ช่อในเวลาเดียวกัน ต้นที่โต ๆ จะให้จำนวนช่อดอกมากขึ้น ช่อดอกตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร หรือกว่านั้น กลีบดอกบานเปิดเต็มที่ดอกมีสีแดงอมสีส้มสดใส บานทนนับเป็นสัปดาห์
Highslide JS

ภาพตัวอย่างของ เข็มม่วง

ลักษณะของต้นและดอกของเข็มม่วง
ดอกของเข็มม่วง
ดอกเข็มม่วง ที่สวนชิเนนทร
ดอกของเข็มม่วง ที่สวนชิเนนทร
เข็มม่วงเผือก ดอกสีขาว ที่สวนชิเนนทร

เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) เข็มม่วงปรากฏตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี พบอยู่ในบริเวณเดียวกันกับเข็มแดง แต่อยู่ในระดับความสูงมากกว่าเข็มแดง ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีน และลาว ตเข็มม่วงมีทรงต้นตั้งแข็งอาจมีความสูงได้ถึง 25 เซนติเมตร ใบเป็นประเภทใบแบน ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบค่อนข้างแข็ง ไม่โค้งมากนัก ปลายใบตัดและเป็นฟันแหลม ๆ ไม่เท่ากันหลายฟัน ใบมีสีเขียวคล้ำ ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งจะปรากฏจุดสีม่วงเล็ก ๆ บนใบโดยทั่วไป โดยเฉพาะใบที่อยู่ใกล้ ๆ ยอด ยิ่งแห้งแล้งมากจุดสีม่วงจะยิ่งเด่นชัดขึ้น ช่อดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นช่อตั้งรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่อ ประมาณช่อละ 30 ดอก ก้านช่อค่อนข้างสั้น
Highslide JS

ภาพตัวอย่างเข็มแสด

ช่อดอกของเข็มแสด
ลักษณะของลำต้นและการแทงช่อของเข็มแสดที่อาศัยบนต้นไม้
ฟอร์มของดอกเข็มแสดในธรรมชาติ
ฟอร์มดอกเข็มแสดทั่วไป
เข็มแสดต้น AM ที่สวนชิเนนทร

เข็มแสด (Ascocentrum miniatum) เข็มแสดเป็น กล้วยไม้สกุลเข็ม ที่พบว่ามีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติไปทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ทางภาคเหนือพบที่จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่จังหวัดนครราชสีมา เลย อุดรธานี ชัยภูมิ มุกดาหาร ต่ำลงไปทางภาคกลางพบที่จังหวัดจันทบุรี ทางภาคใต้พบที่จังหวัดพังงา และสตูล ในลักษณะภูมิประเทศทั้งที่ราบและที่เป็นภูเขา เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติกว่างขวาง จึงสามารถปลูกเลี้ยงให้เจริญงอกงามและออกดอกได้สม่ำเสมอตามฤดูกาลในทุกภาคของไทย ลำต้นของเข็มแสดสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นที่เจริญเติบโตมาก ๆ อาจสูงถึง 30 เซนติเมตร และมีหน่อที่โคนต้นหลายหน่อ ใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร โค้งเล็กน้อย ใบซ้อนชิดกันใบมีสีเขียวแก่ มีลักษณะหนา อวบน้ำ ปลายใบหยักเป็นฟันแหลม ๆ เล็กน้อยอาจจะมีจุดสีม่วงคล้ำบนแผนใบและขอบใบเมื่อกระทบสภาพแห้งแล้งเช่นเดียวกับเข็มแดงและเข็มม่วง ช่อดอกเป็นแบบช่อตั้ง ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ประมาณช่อละกว่า 50 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาวเรียวมีความยาวประมาณ 1.0 เซนติเมตร กลีบนอกและกลีบในของดอกมีขนาดประมาณ 3 x 6 มิลลิเมตร ปากกระเป๋าและเดือยยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร กลีบดอกค่อนข้างหนา ผิวเนื้อกลีบ (Texture) เป็นมันมีสีส้มสดใส หรือสีเหลืองส้มสะดุดตามาก ฤดูออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ดอกบานทนไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์
เข็มชมพู (Ascocentrum semiteretifolium)เข็มชมพู เป็น กล้วยไม้สกุลเข็ม ชนิดเดียมที่มีใบเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในระดับความสูง 1,800-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกสีม่วงอ่อน
     เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะของต้นและสีของดอกไม่เป็นที่สนใจของบรรดานักกล้วยไม้ทั่วๆ ไป ประกอบกับเป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างจะหายาก ทำให้ไม่มีผู้นิยมปลูกเลี้ยงกันมากนัก

กล้วยไม้สกุลเข็ม ชนิดสุดท้ายนี้ นับได้ว่าเป็นกล้วยไม้หายากมากชนิดหนึ่งของไทย ในอดีตผมเองได้พบกับ กล้วยไม้สกุลเข็ม ชนิดนี้เพียงครั้งเดียวขณะเดินทางอยู่บริเวณทุ่งหญ้าซาวานาที่กิ่วแม่ปานบนยอดดอยอินทนนท์ ขนาดลำต้นนั้นเล็กเกาะบนยอดไม้สูงโปร่ง ต้นตั้งตรงรับแสงแดด 100% เต็ม หากนำเข็มชนิดนี้มาปลูกเลี้ยงในพื้นราบ จะพบว่า กล้วยไม้จะค่อย ๆ ตาย เนื่องจากนิสัยชอบแสงแดดที่จัดแต่ไม่ชอบอากาศร้อน การนำเข็มชนิดนี้มาปลูกบนพื้นราบที่อากาศร้อนและต้องได้รับแสงแดดเต็มที่นั้นเป็นไปไม่ได้ จึงไม่ขอแนะนำให้หามาเลี้ยงครับ

กล้วยไม้ลูกผสมของสกุลเข็ม กล้วยไม้สกุลเข็ม นอกจากดอกจะมีสีสันสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นในประเภทแวนดาด้วยกันแล้ว ยังมีช่อดอกแข็มชูตั้งขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่ออย่างเป็นระเบียบ ตามปกติในต้นเดียวกันจะให้ดอกพร้อมกันหลาย ๆ ช่อ เป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย นักผสมพันธุ์กล้วยไม้จึงจัดการผสม กล้วยไม้สกุลเข็ม ข้ามสกุลกับกล้วยไม้ในประเภทแวนดา เช่น กล้วยไม้สกุลแวนดา สกุลช้าง สกุลรีแนนเธอราผลปรากฏว่าได้ลูกผสมที่มีสันสวยงามผิดเพี้ยนแตกต่างกันไป ออกดอกยิ่งขึ้น ดอกบานทนยิ่งขึ้น มีดอกตลอดทั้งปีไม่เป็นฤดูกาล และปลูกเลี้ยงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอสโคเซ็นดา ซึ่งมีสายเลือดของสกุลเข็ม
กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนดา เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอสโคเซ็นดา (Ascocenda)
กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลช้าง เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลรินโคเซ็นตรัม (Rhynchocentrum)
กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลรีแนนเธอรา เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอริโดเซ็นตรัม (Anridocentrum) เป็นต้น
กล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดาที่ปลูกเลี้ยงกันแพร่หลายมากก็เป็นลูกผสมระหว่างเข็มแดงกับกล้วยไม้สกุลแวนดาประเภทใบแบนเป็นส่วนใหญ่ เช่น กล้วยไม้แอสโคเซ็นดา มีดา อาร์โนลด์ (Ascocenda Meda Arnold) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างกล้วยไม้แวนดา รอธไชล์เดียนา (Vanda Rothschildiana) กับเข็มแดง แต่ละต้นให้ดอกที่มีสีสันแตกต่างกัน ตั้งแต่สีแดงไปจนถึงสีน้ำเงินและกล้วยไม้ลูกผสมเหล่านี้ได้มีการผสมกลับไปกลับมาอีกหลายระดับ ระหว่างกล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดากับเข็มแดง หรือระหว่างกล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดากับกล้วยไม้สกุลแวนดาต้นเดิม หรือต้นอื่น ทั้งนี้เพื่อให้สีของดอกสดใสยิ่งขึ้นหรือดอกมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่อดอกยาวขึ้น หรือมีลักษณะแปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่างอื่นมากขึ้นอีก

กล้วยไม้ไทย

ไอยเรศ

กล้วยไม้ไทยพันธ์แท้และลูกผสมกล้วยไม้ไทยพันธ์ต่างๆ  ที่สวยงามมีชื่อเรียกมากมาย  ถ้าไม่ใช่คนที่เคยปลูกเลี้ยง  หรือคนที่ใจรักจริงๆมักจะจำชื่อได้ยาก  เป็นเพราะผู้ปลูกเลี้ยง หรือนักปรับปรุง บำรุงพันธ์  สามารถพัฒนาสายพันธ์ให้มีสีสัน สดสวย แปลกตาไปได้เรื่อยๆ ตามจินตนาการของผู้ปรับปรุงสายพันธ์  และตั้งชื่อเรียกขานกันขึ้นมาใหม่

นี่ก็….ไอยเรศ

วันนี้ “ป้าส้ม”ขอพาเที่ยวชมสวนของ “เฮียใหญ่” คุณนิพนธ์ ตำนานทอง เซียนกล้วยไม้ผู้อาวุโส เจ้าของ “ใหญ่ออร์คิดส์” ที่จังหวัดราชบุรี  (บ้านเดียวกับป้าส้ม) ท่านเป็นปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สายพันธ์ “ช้าง ไอยเรศ และเข็ม ” ชนิดต่างๆ มากว่า 30 ปี แล้ว  ถือเป็นรุ่นพี่ที่ไม่เคยหวงความรู้  ใครถามถึงวิธีเลี้ยง วิธีปลูก จะตอบแบบไม่หวงวิชาเลย(แต่ห้ามขอ)

ช้างแดง

เฮียใหญ่เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารหลายฉบับ และเคยเล่าให้พวกเราฟังหลายครั้งว่า”คนเห็นกล้วยไม้ตามร้านที่ขายออกดอกสวยก็ซื้อไปปลูก มาใหม่ๆขยันรดน้ำ  อยู่ไปดอกเริ่มโรย ก็เริ่มรดบ้างไม่รดบ้าง นานเข้าก็เฉาตาย ก็จะบ่นว่ากล้วยไม้เลี้ยงยาก”

เอ…..อีหนูนี่….ช้างกระ..หรือช้างพลายน้อ!..(มั่วอีกแล้วป้าส้ม)

 

เฮียก็เลยฝากมาบอกพวกเราถ้าอยากเลี้ยงกล้วยไม้  ให้เสียเวลาศึกษาสักนิด  ดูพื้นฐานของกล้วยไม้แต่ละสกุล ชนิด สายพันธุ์ สายเลือด ว่าต้นทางเจริญเติบโตขึ้นอยู่ที่ภูมิภาคใด  มีบรรยากาศแบบไหน  เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงแล้ว จะเป็นอย่างไรที่บ้านเรา แม้กระทั่งโรงเรือน หรือสถานที่เรานำมาแขวนโชว์หรือเลี้ยงเขานั่น เหมาะสมกับเขาหรือเปล่า

เป็นสวนที่ขายทั้งต้น ไม่ขายตัดดอก

“อยากจะแนะนำว่า  แรกๆควรเลี้ยงกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย เว้นการรดน้ำได้บ้างบางเวลา เพราะกล้วยไม้ แห้งไม่ตาย  แต่ถ้ารดน้ำจนแฉะชื้นมาก รากเน่าตาย ให้รู้จักฤดูการออกดอกของเขา เลี้ยงไว้หลายๆพันธุ์  ถึงเวลาเขาจะสลับกันออก ตามฤดูกาล มีดอกให้ชมได้ตลอดปี”

ลักษณะพิเศษของกล้วย

   การจำแนกพืชวงศ์กล้วยไม้ได้จำแนกลักษณะพิเศษของกล้วยไม้ที่ต่างจากพืชอื่นไว้ดังนี้

1. เกสรตัวผู้อยู่ข้างเดียวของดอก (ไม่สมดุล) กล้วยไม้ส่วนใหญ่มีเกสรตัวที่ไม่เป็นหมันเพียงอันเดียว แต่มีกล้วยไม้เพียง 1 สกุลที่มี 3 อัน แต่ล้วนอยู่ข้างเดียวซึ่งอาจเป็นขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการของกล้วยไม้

2. เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียบางส่วนตะรวมกัน แต่ส่วนใหญ่จะรวมทั้งหมดเป็นโครงสร้างเดียวคือ “เส้าเกสร”

3. เมล็ดมีขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ

4. ดอกกล้วยไม้มีกลีบชั้นในซึ่งเรียกว่า “ปาก” จะอยู่ตรงข้ามกับเกสรตัวผู้ที่ไม่เป็นหมัน ซึ่งต่างจากกลีบชั้นในอีก 2 อัน มีกล้วยไม้เพียงส่วนน้อยที่ “ปาก” ไม่แตกต่างจากกลีบชั้นในอีก 2 อัน

5. ดอกกล้วยไม้จะบิดในช่วงที่ดอกกำลังพัฒนา ตาดอกหรือดอกตูมจะบิดเพื่อให้ปากอยู่ส่วนล่างของดอกเมื่อบาน ซึ่งเรียกว่า “resupination”

6. ส่วนของ stigma ที่เรียกว่า “rostellum” จะเกี่ยวข้องกับการส่งกลุ่มเรณูจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดสำคัญของวิวัฒนาการของกล้วยไม้

7. เรณูจะรวมกันเป็นกลุ่มเรณู ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในวงศ์กล้วยไม้ ลักษณะนี้กับ rostellum จะเกี่ยวข้องกันอย่างมากในการถ่ายละอองเกสรโดยแมลงและนก ซึ่งจะพากลุ่มเรณูไปทั้งกลุ่ม ทำให้กล้วยไม้มีเมล็ดจำนวนมาก เนื่องจากเรณูไม่สูญเสียไปเหมือนพืชอื่น ๆ เมื่อฝักหรือผลแก่จะแตกออก เมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กและมีอาหารสะสมเพียงเล็กน้อยจะปลิวกระจายไปตามลม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะงอกเป็นต้น